โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่มีความดันเลือดในหลอดเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งปกติแล้วเรามักจะเห็นผู้ป่วยโรคนี้กับวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่าคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นก็สามารถเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เรามาดูกันว่าทำไมคนที่อายุยังน้อยถึงมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงวิธีการป้องกันและดูแลสุขภาพที่ควรทำตั้งแต่ตอนนี้ ปัจจัยที่ทำให้คนอายุน้อยเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นปัจจัยหลัก 1. การบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง การทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว และอาหารที่มีรสเค็มจัดเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากขึ้น โดยหากสังเกตอาหารยอดฮิตในปัจจุบันมักเป็นอาหารที่มีความเค็มสูง รสจัด ซึ่งอาหารรสเหล่านี้มักจะทำให้ผู้คนบริโภคมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะอาหารที่มีโซเดียมสูงเปิดการรับรสได้ดี จึงทำให้ผู้บริโภคสัมผัสถึงรสอาหารได้มากขึ้น และรับประทานในปริมาณที่มากขึ้นเช่นกัน 2. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (aldosterone) สูงขึ้น ทำให้ร่างกายมีการสะสมน้ำและโซเดียมมากกว่าปกติ หากดื่มเป็นประจำก็จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ส่วนการดื่มคาเฟอีนเป็นประจำจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เนื่องจากคาเฟอีนจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากจะทำให้ติดแล้ว ยังทำให้ร่างกายตื่นตัว การดื่มคาเฟอีนในปริมาณมากในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 3. การไม่ออกกำลังกาย ในคนที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ การออกกำลังกายจะช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้ มีการศึกษาว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic) สามารถช่วยลดความดันโลหิตในค่า Systolic ได้ประมาณ 2-3 mmHG และยังพบว่าถ้าความดันโลหิตลดลงอย่างน้อย 2 mmHG จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้ (Stroke ) ได้ถึงร้อยละ 14 และลดความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 9 การออกกำลังจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการรักษา […]