ปิดเทอมหน้าร้อนเด็ก ๆ หลายคนรอคอยที่จะได้ออกจากบ้านไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบกลางแจ้งกับเพื่อน ๆ พ่อแม่ก็พร้อมสนับสนุน เพราะจะได้ส่งเสริมพัฒนาการด้านสำคัญ ๆ ของลูกหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคืออากาศที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะในปีนี้ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนหลายองศา ซึ่งอาจจะส่งผลให้เด็กเป็นลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรกได้ ฮีทสโตรกในเด็กก็เกิดขึ้นได้และอันตรายด้วย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่อุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายคนเราจะอยู่ที่ 36.1 – 37 องศาเซลเซียส (°C) แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลยร่างกายของเราก็มีความร้อนอยู่แล้ว เพราะมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานอย่างสม่ำเสมอ หากเรายิ่งทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกาย วิ่งเล่น หรือต้องใช้พลังงานเยอะ ๆ ร่างกายก็จะพยายามทำให้อุณหภูมิกลับมาสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดโดยการระบายความร้อนออกจากร่างกาย แต่หากเราอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือ ได้รับน้ำไม่เพียงพอร่างกายก็จะไม่สามารถถ่ายโอนความร้อนนี้ได้ อุณหภูมิในร่างกายก็จะสูงขึ้นจนเข้าสู่สภาวะโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat stoke) ได้ ซึ่งในเด็กบางรายอาจจะถึงขั้นเป็นลมหมดสติ ช็อก หรือเสี่ยงถึงชีวิตได้ สังเกตอาการฮีทสโตรกของลูก ในช่วงเริ่มของการเป็นโรคลมแดด พ่อแม่อาจจะสังเกตได้ยากเพราะเมื่อเด็กมักจะแสดงอาการเมื่ออยู่ในช่วงวิกฤติแล้ว ดังนั้นควรจะอยู่ใกล้ชิดกับลูกเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะความไร้เดียงสาของเด็กพวกเขาจะไม่ได้รู้สึกร้อนเพราะเพลิดเพลินกับกิจกรรมตรงหน้ามากกว่า 1. ลูกอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด เช่น ไปทำกิจกรรมว่ายน้ำแล้วขึ้นมา ลูกบอกว่าเหนื่อย ง่วงนอน ทั้งที่อาคารว่ายน้ำอยู่ในร่ม […]