นอกจากโรคระบาดที่น่ากลัวในยุคสมัยนี้ โรคที่เคยมีอยู่ก็ไม่ได้ลดความอันตรายลงเลยด้วย ซึ่งมีการประเมินว่าสถานการณ์สาธารณสุขทั่วโลกในอนาคต อาจจะมีผู้ป่วยที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หนึ่งในภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างไม่บอกกล่าวคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี หรือโรคหัวใจขาดเลือด นับเป็นอีกโรคที่ต้องเฝ้าระวังตัวเองและคนรอบข้าง เพราะหากเป็นเราอาจจะไม่มีโอกาสแม้แต่บอกลาคนที่รัก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอันตรายอย่างไร? โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery disease, CAD) หรือโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease, IHD) หมายถึง โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไขมัน และเนื้อเยื่อสะสมอยู่ในผนังของหลอดเลือด มีผลให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น โรคหลอดเลือดหัวใจยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย และมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ อีกด้วย ฉะนั้นโรคนี้ไม่ได้เป็นมากแค่กลุ่มคนสูงวัยเท่านั้นนะครับ คนที่อายุไม่มากก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยคนที่อายุ 45 ปีขึ้นมี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวมากและมีไขมันในเลือดสูง 2. มีความเป็นไปได้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถส่งผ่านทางกรรมพันธุ์ได้ หากพ่อแม่เป็นก็มีโอกาสที่ลูกจะเป็น 3. การสูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในไทยส่วนใหญ่พบว่ามีพฤติกรรมสูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ เพราะสารพิษจากควันบุหรี่จะแทรกซึมเข้าไปตามหลอดเลือดทั่วร่างกาย และสะสมเป็นตะกอนเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดข้นเหนียว และไหลเวียนไม่สะดวก […]