โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีคนเป็นมากที่สุดหนึ่งโรค และนับเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่ออวัยวะสำคัญอย่างหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งความน่ากลัวของโรคนี้คือไม่แสดงอาการ และไม่สามารถวินิจฉัยได้ในครั้งเดียวอีกด้วย โรคความดันโลหิตสูงคือหนึ่งในภัยเงียบที่คนไทยเป็นมากที่สุด การสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี พ.ศ. 2562-2563 พบว่าประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ล้านคน และในจำนวนนี้มีมากถึง 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ออกรายงานว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของประชากร มีกลุ่มผู้ป่วยอายุ 30-79 ปี ป่วยเป็นโรคนี้กว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลกอีกด้วย นับว่าโรคนี้คนเป็นเยอะแต่หลายคนมักจะละเลย เพราะไม่แสดงอาการ และเมื่อตรวจพบก็รู้สึกว่าอาการไม่หนัก จึงไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมความดันเท่าไหร่นัก ทำไมการควบคุมความดันโลหิตถึงสำคัญกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เนื่องจากความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ผนังหัวใจหนาขึ้น ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้ผนังหัวใจยืดออก และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าควร อาจจะส่งผลให้หัวใจโต หัวใจวายเฉียบพลันได้ ถ้าหากปล่อยให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง อาจจะทำให้ปวดศีรษะรุนแรง หายใจถี่ขึ้น เลือดกำเดาไหล ถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้ อาการนี้หากเกิดในผู้ป่วยสูงอายุค่อนข้างอันตราย เพราะอาจจะทำให้ล้มหัวกระแทก หรือบาดเจ็บรุนแรงจากการล้มได้ ไม่เพียงเท่านี้หากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง […]