ในยุคที่โลกออนไลน์ใกล้กันได้มากขึ้น กลับทำให้โลกความเป็นจริงดูไกลขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ นั่นจึงทำให้คนใน Generation ที่เกิดมาในโลกอนาล็อกต้องมาเรียนรู้โลกดิจิทัล เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกหลงลืมและตามไม่ทันโลกได้ แม้ความเข้าใจจะยากและสวนทางกับความรวดเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ผู้สูงอายุหลายคนก็ทำได้ดี จนติดโซเชียลพอ ๆ กับยุคสมัยที่เคยติดหนังสือหรือโทรทัศน์ แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียสำหรับผู้สูงอายุนั้น ยิ่งใช้มาก ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจ จากการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 มีรายงานว่าผู้สูงอายุใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่น Line Youtube Facebook กว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยครับ อีกทั้งสถิติการใช้งานของคนกลุ่มนี้ก็มากขึ้นตามเทรนด์ทั่วโลก หลายคนอาจจะมองว่าการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมผ่านโลกออนไลน์ ก็ดีกว่าการอยู่เฉย ๆ ใช่ไหมครับ? แต่กลับกลายเป็นว่าการจมจ่ออยู่กับโทรศัพท์หรือแท็บแล็ตนาน ๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า ผลกระทบสุขภาพของโซเชียลมีเดียต่อผู้สูงอายุ 1. การเสพข่าวสารที่กระทบต่อจิตใจ ผู้สูงอายุมีความอ่อนไหวด้านจิตใจเป็นทุนเดิม การไม่ได้เตรียมใจจะตั้งรับกับข่าวสารที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคปัจจุบันอาจจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เพราะการเลื่อนไทม์ไลน์ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเจอกับรูปภาพหรือวิดีโอรูปแบบใด และหลีกเลี่ยงที่จะปฏิเสธข่าวสารที่รวดเร็วและไม่มีการกลั่นกรองได้เลย ฉะนั้นการที่ผู้สูงอายุต้องรับรู้ข่าวเหล่านี้มาก ๆ ยิ่งส่งผลต่อภาวะจิตใจและร่างกาย ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ 2. การหลีกเลี่ยงข้อความหรือสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจได้ยาก เมื่อโซเชียลมีเดียสื่อสารด้วยข้อความเป็นหลัก บางครั้งผู้สูงอายุอาจจะตีความผิดได้ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้สูงอายุมีความไม่สบายใจ ตระหนก กังวลใจ […]