เมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศไทยได้ประกาศว่าโรคการติดเชื้อโคโรนาไวรัสจาก “โรคระบาดใหญ่” หรือลดระดับลงมาเป็น “โรคประจำถิ่น” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรการอีกครั้งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ของไทย แต่อย่างที่เราติดตามข่าวสารกันมาตลอด การติดเชื้อยังคงสูงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้อาการผู้ติดเชื้อจะไม่หนักเทียบกับช่วงก่อนหน้า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการในระดับนโยบาย มาดูกันครับว่าเราควรจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
ความแตกต่างของการระบาดใหญ่และโรคประจำถิ่น
การระบาดใหญ่ (Pandemic) หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสเปน, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, โควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก สถานการณ์การแพร่ระบาดสูง แต่สำหรับโรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึง โรคที่มีอัตราป่วยคงที่ในพื้นที่ และมักคาดการณ์ได้ว่าส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ใด ฤดูไหน จำนวนมากน้อยเท่าไร เช่น ไข้เลือดออกในมากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งพบผู้ป่วยตลอดทั้งปีและมากขึ้นในฤดูฝน ไข้มาลาเรียในทวีปแอฟริกา หากในพื้นที่นั้นมีการระบาดของโรคประจำถิ่นในระดับสูงจะเรียกว่า Hyperendemic
โดยมีเป้าหมายของการบริหารจัดการเพื่อให้เข้าสู่โรคประจำถิ่น คือ การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตายไม่เกินร้อยละ 0.1 และครอบคลุมการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องมากกว่าร้อยละ 60 เนื่องจากปัจจุบันประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 ทะลุ 60% แต่เข็มกระตุ้นยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุแค่ 20-30% บางจังหวัดยังเป็นหลักหน่วย ที่สำคัญต้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงขอความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด
สำหรับมาตรการเตรียมพร้อม “โควิด” เข้าสู่โรคประจำถิ่น
จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีดังนี้
สำหรับประชาชน 2U
– Universal Prevention คือ การป้องกัน / ระวังตนเอง เมื่อต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง
– Universal Vaccination คือ การรับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นในประชาชนทุกกลุ่ม
สำหรับสถานประกอบการ เช่น โรงเรียน สถานที่ทำงาน
– ยกเลิก ตรวจวัดอุณหภูมิ / จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่
– ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หรือสงสัยติดเชื้อ
สำหรับโรงพยาบาล
– COVID ward ปรับเป็นหอผู้ป่วย โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป
จากมาตรการต่าง ๆ จะเห็นได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สิ่งที่เราต้องเฝ้าระวังมีอะไรบ้าง และเราต้องรับมืออย่างไร?
– เสริมสร้างภูมิต้านทานให้ตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการทานอาหารเสริมหรือวิตามินอย่างเบต้ากลูแคน เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้อย่างเต็มที่เสมอ เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายคือสิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือกับโควิด-19 และการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เพิ่มมากขึ้น
– หลีกเลี่ยงไปในที่อโคจรหรือในที่ ๆ มีจำนวนผู้คนมาก ๆ เพราะการเบียดเสียด แออัด อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้มาก
– สวมใส่แมสก์เสมอ หากไม่จำเป็นแนะนำว่าไม่ควรถอด โดยเฉพาะในสถานที่ปิดหรือระบายอากาศได้ไม่ดี
– ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด ใครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นควรเข้ารับตามกำหนดให้ครบครับ
– สำรวจตัวเองตลอดเวลา เนื่องจากไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ติดเชื้อได้ง่าย ให้สังเกตว่าเจ็บคอ เป็นไข้อ่อน ๆ หรืออ่อนเพลียเกินกว่าปกติหรือไม่ และตรวจ ATK บ่อย ๆ ครับ