ใครช่วงนี้ยัง Work From Home อยู่บ้างครับ? อาจจะมีหลายคนเลยใช่ไหมครับ เพราะสถานการณ์โควิดยังไม่แน่นอน บางคนถึงกับ Work From Home มาตั้งแต่ปีที่แล้วตามนโยบายความปลอดภัยของบริษัท แต่รู้หรือไม่ครับว่าการที่เราต้องทำงานอยู่บ้านนาน ๆ นั้นอาจจะส่งผลให้เครียดจนเกิดเป็นภาวะ Burnout Syndrome ได้นะครับ
ภาวะ Burnout Syndrome คืออะไร?
Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยนับว่าเป็นโรคใหม่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ขึ้นทะเบียน เกิดจากความเครียดสะสมและถึงขั้นเรื้อรังจากการทำงาน ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้
– รู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ แม้ว่าวันนั้นจะไม่ได้ทำงานหนักมากก็ตาม
– รู้สึกหมดพลัง ไม่อยากทำอะไรนอกจากอยู่เฉย ๆ หรือทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำ
– ขาดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจในการทำงานของตัวเอง คิดลบต่องานของตัวเองที่ทำอยู่หรืองานที่ทำออกมา
– ไม่อยากมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมถึงไม่อยากพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน
– กังวล กลัว เมื่อต้องพูดคุยเรื่องงานของตัวเองกับคนอื่น
โดยอาการเหล่านี้ยังไม่จัดว่ารุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำงานในระยะยาว ความเชื่อมั่นในตัวเองจะถูกลดทอนลงไปง่าย ๆ และสุดท้ายทางออกของคนที่ตกอยู่ในภาวะนี้อาจจะลาออกจากงานในที่สุด
การ Work From Home ทำให้เกิดภาวะ Burnout Syndrome ได้อย่างไร
ปกติการที่เราไปทำงานที่ออฟฟิศ เราจะเกิดการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งตัว การเดินทางไปทำงาน และเริ่มทำงาน แต่เมื่อเวลาเราอยู่บ้านการตื่นตัวของเราลดหลั่นลงเนื่องจากบ้านของบางคนก็ไม่ได้เอื้อต่อการทำงาน การไม่ได้ขยับตัวไปไหนมากมายก็ลดการตัดสินใจลง ยิ่งมาเจอความโดดเดี่ยวของการนั่งทำงานเงียบ ๆ คนเดียว จากที่เคยมีเพื่อนร่วมงานให้ได้พูดคุย ชวนไปทานข้าวกลางวัน กลายเป็นทุกอย่างต้องทำด้วยตัวคนเดียว ธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมการต้องเก็บตัวอยู่แต่บ้านก็นับว่าผิดธรรมชาติอยู่ทีเดียว แม้จะได้พูดคุยกันผ่าน video conference แต่ก็เทียบไม่ได้กับการได้ประชุมร่วมกันหรือได้เสนอแนวคิดถกเถียงกันแบบเห็นหน้าค่าตา ยิ่งมาเจอภาวะโรคระบาดด้วยแล้วยิ่งเพิ่มความเครียดทวีคูณเลยก็ว่าได้
สำรวจตัวเองและป้องกันการเกิดภาวะ Burnout Syndrome
– เพียรสำรวจตัวเองอยู่เสมอ หากรู้สึกเบื่อหน่าย เหนื่อยกว่าปกติ หรือทำงานแล้วไม่เคยรู้สึกพอใจกับผลงานที่ออกไปอาจจะต้องปรึกษากับหัวหน้างาน ในส่วนของเนื้องานและความเยอะน้อยของงานที่ได้รับ
– พยายามใช้ชีวิตเป็นรูทีนเหมือนเราไปทำงาน
– นอนหลับให้เพียงพอ การทำงานอยู่บ้านอาจจะทำให้เราใช้พลังงานน้อยและหลับยากกว่าปกติ ลองออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนอาบน้ำอาจจะช่วยได้ครับ
– หลังเลิกงานแล้วลองหากิจกรรมคลายเครียดที่ชอบทำจะได้สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย หรือรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานอยู่เสมอ หากร่างกายแข็งแรง อย่างน้อย ๆ เราก็ยังมีพลังในการทำงานอยู่ครับ
แม้ภาวะ Burnout Syndrome หรือหมดไฟในการทำงานจะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า แต่เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะความเครียดในชีวิตหรือสังคมที่พบเจอ งานเยอะจนไม่สามารถจัดการได้ ความกดดันจากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน การแข่งขันภายในต่าง ๆ กระทั่งการต้องทำงานอยู่บ้านเป็นเวลานานอย่างโดดเดี่ยวส่งผลต่อการทำงานทั้งสิ้น หากรู้สึกว่่าสิ่งที่กำลังเผชิญส่งผลต่อชีวิตประจำวันในทางใดทางหนึ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อหาทางออก มิเช่นนั้นอาจจะส่งผลต่อสุขภาวะของคุณในเรื่องอื่น ๆ ได้นะครับ ดูแลสุขภาพแล้วอย่าลืมดูแลสุขภาพจิตใจของเราด้วยนะ