หลายคนอาจจะเคยได้ยิน “ภาวะแทรกซ้อน” ทำให้การป่วยเป็นโรคนั้น ๆ มีอาการรุนแรงขึ้น หรือทำให้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มาทำความรู้จักกับภาวะนี้ และโรคอะไรบ้างที่มีความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนง่าย รวมถึงเราจะดูและตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคเหล่านั้นได้บ้าง
ภาวะแทรกซ้อน หรือ โรคแทรกซ้อน คืออะไร?
โรคแทรก (complication) เป็นภาวะแทรกซ้อนขณะได้รับการรักษา หรือโรคอื่นที่ไม่พึ่งประสงค์ที่เกิดขึ้นขณะรักษาโรคหนึ่งอยู่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการวินิจฉัยโรคหรือการรักษาของโรค โดยทั่วไปจะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือการรักษามีประสิทธิผลแย่ลง ซึ่งอาจแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะอื่น ๆ ภาวะแทรกซ้อนอาจนำไปสู่การพัฒนาของโรคใหม่ที่เกิดจากโรคที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ได้ด้วย
โรคที่สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
1. โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี อาจจะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็งเร็วขึ้น เกิดปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะที่เส้นเลือดต้องไปหล่อเลี้ยง สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้
– ภาวะแทรกซ้อนทางตาอาจจะทำให้จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งจะค่อย ๆ แสดงอาการ และถ้าละเลยอาจทำให้มีอาการตาพร่ามัว หลอดเลือดฉีกขาดง่าย และอาจจะร้ายแรงถึงทำให้ตาบอดสนิทได้
– ภาวะแทรกซ้อนทางไต เป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
– ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท โดยปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือด เกิดภาวะอักเสบและอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติ
2. โรคความดันโลหิต
ภาวะที่แรงดันของเลือดที่มีต่อผนังเลือดสูงพอที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจต่าง ๆ ได้ในระยะยาว สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้
– โรคหัวใจขาดเลือด จากการที่เส้นเลือดหัวใจหนาและแข็งตัวมากขึ้น อาจจะทำให้หัวใจวายได้
– เส้นเลือดสมองโป่งพอง ผนังเส้นเลือดอ่อนตัวลง และโป่งพองจนแตกได้
– หัวใจล้มเหลว พอมีความดันสูงหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปั๊มเลือดไปทุกส่วนของร่างกาย กล้ามเนื้อที่หัวใจจึงหนาขึ้น ในระยะยาวหัวใจอาจไม่สามารถปรับตัวได้อีกจนไม่สามารถปั๊มเลือดไปส่งได้พอเพียง
– โรคไตเสื่อม ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
3. โรคหัวใจ
มักจะเกิดจากสาเหตุการมีก้อนไขมัน หรือมีก้อนลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดแดงในหัวใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อวัยวะต่าง ๆ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้
– หัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบการเต้นของหัวใจเอง อาจพบได้ทั้งก่อนและภายหลังการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจทั่ว ๆ ไป
– หลอดเลือดในสมองอุดตัน อาจเกิดจากภาวะโลหิตจางเกินไป หรือเลือดข้นมากเกินไปจนอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กบางส่วนของสมอง
การป้องกัน
จะเห็นได้เลยว่าทั้งสามโรคเกิดการการทำงานที่ผิดปกติของอวัยะที่เกี่ยวกับหลอดเลือด ซึ่งตัวแปรมาจากวิถีชีวิตของเรานั่นเอง โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่หลากหลาย เลือกทานของมัน ของทอด และของแปรรูป ซึ่งไขมันที่อยู่ในอาหารเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายสะสมไขมันเลวจำนวนเยอะเกินสมดุลของไขมันที่ควรมี และไปเกาะตามหนังหลอดเลือดทุกอวัยวะในร่างกาย ฉะนั้น ต้องเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย มีประโยชน์ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะป้องกันโรคเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี