แสงหน้าจอ อันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

แสงหน้าจอ

เป็นเหมือนกันไหมครับ? WFH นานๆ แล้วรู้สึกว่าดวงตาของเรามีปัญหามากขึ้น หลายคนพบว่าตัวเองสายตาสั้นลง ตาล้า แสบตา เนื่องจากการทำงานที่บ้านทำให้เราจดจ่อแค่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเท่านั้น ไม่แปลกใจเลยที่หลายคนจะประสบกับปัญหาทางสายตามากขึ้น เพราะแสงหน้าจออันตรายกว่าที่ทุกคนคิด มาดูวิธีรับมือและป้องกันกันเถอะครับ

รู้จักแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่อยู่รอบตัวเรา

แสงสีฟ้าที่เข้มข้นมาจากดวงอาทิตย์ของเรา แต่แสงสีฟ้าที่อยู่บนอุปกรณ์ที่เรามักมองข้ามอย่าง โทรศัพท์มือถือ หน้าจอโทรทัศน์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือหลอดไฟ LED  ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากแสงสีฟ้าเป็นสีที่ให้ความสว่างมากที่สุด จึงนิยมนำมาให้เพื่อให้ความสว่าง และความคมชัดของอุปกรณ์เหล่านี้ครับ จะเห็นได้เลยว่าแสงสีฟ้าอยู่รอบตัวเราจริงๆ

โดยแสงสีฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

แสงสีฟ้าที่ดี จะช่วยให้ร่างกายกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง มีพลังในการทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิต ทำให้ร่างกายรู้ว่าเวลาไหนต้องตื่น เวลาไหนต้องนอน แม้กระทั่งเวลากิน ทำกิจกรรมต่าง ๆ

แสงสีฟ้าที่ไม่ดี อยู่ในช่วงความถี่ 415-455 นาโนเมตร ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ส่งผลต่อจอประสาทตา หากรับในปริมาณมากเกินไปจะทำให้จอประสาทตาค่อย ๆ เสื่อม และอาจจะทำให้นาฬิกาชีวิตผิดไป เช่น การเล่นมือถือก่อนนอน อาจจะส่งผลให้นอนไม่หลับ หลับยาก แสบตา และทำให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย ในวันรุ่งขึ้นได้

อันตรายจากแสงหน้าจอส่งผลต่อสุขภาพดวงตาของเรา

– จอประสาทตาเสื่อม เป็นอาการร้ายแรงที่อาจจะพบได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้เลยทีเดียว เพราะแสงสีน้ำเงินสามารถแทรกผ่านสารสีที่พบได้ในตา และเป็นอันตรายต่อเซลล์ศูนย์กลางเรตินา เพื่อลดความเข้มข้นของสารสี แม้กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา แต่ใครที่ยังใช้งานดวงตาหนักๆ ผ่านจอทั้งหลายก็อาจจะเกิดได้เร็วขึ้นนะครับ

 – ดวงตาล้า การต้องเพ่งมองภาพบนมือถือ จอคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตระยะเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้ระบบสายตาทำงานหนักและโฟกัสภาพได้ยาก เนื่องจากบนหน้าจอประกอบด้วยพิกเซลเล็กๆ จำนวนมากที่ขยับสั่นไหวตลอดเวลา ส่งผลให้สายตาอ่อนล้า แสบตา น้ำตาไหลจากตาแห้ง และมองภาพไม่ชัดเจน

– ภาวะตาขี้เกียจ คือ การที่ดวงตาข้างหนึ่งไม่ได้ใช้งานนาน ๆ อย่างสายตาสองข้างสั้นต่างกัน ตาข้างที่สั้นมาก ๆ จะไม่ถูกใช้งาน เพราะร่างกายจะให้ตาอีกข้างที่มีระยะการมองเห็นที่ดีกว่าแทน ซึ่งจะส่งผลให้ดวงตาที่ไม่ได้สั้นมากสั้นลงไปด้วยนั่นเอง การยิ่งต้องเพิ่งมองจอนานๆ จะส่งให้เกิดภาวะนี้เร็วขึ้น

– เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง มีงานวิจัยว่าการได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือกระทั่งเกิดโรคบางชนิด อย่างโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดัน หรือโรคอ้วนได้อีกด้วย

วิธีป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้า

แม้จะทำได้ค่อนข้างยากมาก เพราะแสงสีฟ้าอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา แต่วิธีแนะนำก็คือปรับความสว่างหน้าจอให้พอดีกับแสงในสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ พักสายตาเป็นระยะ กะพริบตาถี่ๆ ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ฟิล์มกรองแสง แว่นตากรองแสงสีฟ้า ปรับสีหน้าจอให้ออกไปในโทนเหลืองในช่วงเวลาใกล้นอน ก็พอจะได้ครับ

สิ่งสำคัญคือการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทานอาหารที่ช่วยบำรุงดวงตา และควรตรวจสายตา และสุขภาพดวงตาทุกปีด้วยนะครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

TOP